บทบาททางสังคม ของ กระวิน ธรรมพิทักษ์

นักบินรบสายแดงแห่งกรมอากาศยาน

พันเอกกระวิน มีความใฝ่ฝันเป็นนักบินตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากเกิดในช่วงวิวัฒนาการของการใช้อากาศยาน เมื่ออายุ 6 - 10 ปี ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (28 ก.ค. 2457 – 11 พ.ย. 2461) ซึ่งมีการเร่งพัฒนาและนำอากาศยานมาใช้ประโยชน์ทางทหารอย่างเด่นชัด [4] ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยได้พัฒนากองทัพโดยจัดรูปแบบยุโรป และมีการจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพันเอกกระวินจบการศึกษาชั้นสามัญ ได้สมัครเข้าเป็นนายสิบนักบิน โดยเข้าเป็นศิษย์การบินชั้นประถม กองโรงเรียนการบิน กรมอากาศยาน ในปี พ.ศ. 2470 และเป็นศิษย์การบินชั้นมัธยม ประจำกองบินใหญ่ที่ 1 กรมอากาศยาน ในปี พ.ศ. 2471

เมื่อจบการศึกษาได้รับการประดับปีกและสายแดง เป็นนักบินรบของกรมอากาศยาน กองทัพบก และได้เข้าประจำการเป็นนักบินประจำกองบินใหญ่ที่ 1 กรมอากาศยาน (ยศสิบตรี) ในปี พ.ศ. 2472 , เป็นนักบินประจำ หมวดบินที่ 2 ฝูงศึกษา กองบินน้อยที่ 1 กรมอากาศยาน (ยศสิบโท) ในปี พ.ศ. 2473 และขึ้นเป็นผู้บังคับหมู่บิน หมวดบินที่ 2 ฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 2 กรมอากาศยาน (ยศสิบเอก) ในปี พ.ศ. 2476

นักบินรบแห่งราชนาวีไทย เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา

WS-103S Siam Navy Reconnaissance Seaplane

ต่อมากองทัพเรือได้ริเริ่มแนวคิดจัดตั้งหมวดบินทะเล เพื่อสนับสนุนการรบทางทะเลขึ้น มีการเตรียมการจัดซื้อเครื่องบินทะเลแบบ วาตานาเบ้ (Watanabe WS-103S Siam Navy Reconnaissance Seaplane) จำนวน 6 เครื่อง จากญี่ปุ่น เพื่อใช้ประจำบนเรือรบที่สั่งต่อจากญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือหลวงแม่กลอง และเรือหลวงท่าจีน และส่วนหนึ่งประจำการ ณ อ่าวสัตหีบ [5][6][7] สิบเอกกระวินได้ถูกวางตัวเป็นนักบินของฝูงบินทะเลใหม่ที่จะเกิดขึ้น จึงถูกโอนไปรับยศจ่าอากาศเอกและรับทุนจากกองทัพอากาศ เข้าศึกษาโรงเรียนนายเรือ ในปี พ.ศ. 2479 โดยสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายเรือ เหล่านักบินชั้นตรี และได้ถูกบรรจุเป็นว่าที่นายเรือตรี ตำแหน่งนักบินและผู้ตรวจการณ์ประจำหมวดบินทะเล กองเรือรบ ในปี พ.ศ. 2482

ก่อนหน้านั้น จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย "การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกและการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" (อังกฤษ: New order in East Asia and the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) และต่อมาได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับประเทศญี่ปุ่น โดยในปี พ.ศ. 2484 นายเรือโทกระวิน ซึ่งดำรงตำแหน่ง นักบินลองเครื่องหมวดบินทะเล กองเรือรบ ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติราชการทัพในคราวกรณีฉุกเฉินเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา ในตำแหน่งผู้บังคับฝูงบิน 3 และได้ศึกษาวิชาการบินและเครื่องบิน ที่กองทัพอากาศญี่ปุ่น และ กองบินราชนาวีญี่ปุ่น ระหว่างปฏิบัติราชการสงคราม ระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2487 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลงใน ปี.พ.ศ. 2488 โดยฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

นายเรือโทกระวิน ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2484 [8] และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายเรือเอก เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2487

กัปตันยุคแรกของบริษัทเดินอากาศ

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2490 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติแผนงานการบินพาณิชย์ของกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานโดยจัดตั้งในรูปของ บริษัท เดินอากาศ จำกัด (อังกฤษ: Siamese Airways Co.,Ltd.) โดยรับโอนกิจการบินพาณิชย์ จากกองทัพอากาศมาดำเนินงานต่อ นายเรือเอกกระวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับฝูงบิน 3 ในขณะนั้น ด้วยอุปนิสัยซึ่งเป็นคนฉลาด เรียนหนังสือเก่ง ไม่ยอมคน มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ได้ตัดสินใจลาออกจากกองทัพเรือ เนื่องจากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 [9] และสมัครเข้าเป็นกัปตันบริษัทเดินอากาศ นายเรือเอกกระวินเป็นกัปตันที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น อาจด้วยรูปสมบัติและฝีมือด้านการบิน การโดยสารเครื่องบินในประเทศไทยในยุคนั้นถือเป็นยุคเริ่มแรกยังไม่แพร่หลาย และมีราคาค่าโดยสารค่อนข้างสูง มีกลุ่มผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม ผู้โดยสารสมัยนั้นจะนิยมเดินทางโดยเครื่องบินที่มีนายเรือเอกกระวินเป็นกัปตัน [10]

นักบินประจำตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ความสามารถด้านการบินของ นายเรือเอกกระวิน ได้กลายเป็นที่โจษจัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ชักชวนนายเรือเอกกระวิน ให้ลาออกเพื่อมาทำหน้าที่นักบินประจำตัว โดยนายเรือเอกกระวินได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเดินอากาศ ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ขึ้นครองอำนาจอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ตลอดระยะเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นครองอำนาจและดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ร้อยตำรวจเอกกระวิน หรือต่อมาคือ พันตรีกระวิน จะเป็นผู้ทำหน้าที่นักบินประจำตัว จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506

ด้วยการสนับสนุนของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายเรือเอกกระวิน ได้กลับมารับราชการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2499 ได้รับยศร้อยตำรวจเอก สังกัดกรมตำรวจสอบสวนกลาง (หน้าที่ทางอากาศ) ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการบินลำเลียง ฝ่ายสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธร ในปี พ.ศ. 2503 และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรักษาราชการ รองผู้บังคับการกองบินขนส่งทหารบก ในปี พ.ศ. 2504 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินทหารบกจนเกษียนอายุราชการ

เปิดสถานีบริการน้ำมันตรา 3 ทหาร

ในปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ยกเลิกข้อผูกพันที่ทำไวักับบริษัทต่างชาติ และตั้งองค์การเชื้อเพลิง เป็นรัฐวิสาหกิจใน ปี พ.ศ. 2503 โดยใช้สัญลักษณ์ 3 ทหาร เพื่อดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน จัดหา และกลั่นน้ำมัน [11] ทันทีที่มีการจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง ในปี พ.ศ. 2503 ร้อยตำรวจเอกกระวิน ได้เปิดสถานีบริการน้ำมันตรา 3 ทหาร บริเวณริมถนนพหลโยธิน ตรงข้ามซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัย (หน้าสำนักงานเขตพญาไท ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก ด้วยรายได้จากการเป็นกัปตันบริษัทเดินอากาศและทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน จึงสามารถส่งเสียบุตรธิดาทั้ง 10 คน ให้ได้รับการศึกษาในต่างประเทศทั้งหมด

ใกล้เคียง